สืบเนื่องจาก คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 3-2546 วันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นเครื่องหมายเดียวกัน คือ เครื่องหมาย "Q" เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเครื่องหมายนี้แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรและอาหารมีคุณภาพและความ ปลอดภัยพร้อมทั้งยังสื่อไปถึงผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าให้เกิด ความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตาม มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
หน่วย งานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยมีการลงนามวันที่ 26 กันยายน 2546 ร่วมกัน 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อผูกพันให้มีการนำเครื่องหมายรับรอง "Q" ไปใช้ในแนวทางเดียวกัน และมีการดำเนินการตามวิธีการและแนวทางที่กำหนดไว้ใน MOU โดยหน่วยรับรองให้การรับรอง ตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค (From Farm To Table) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของเครื่องหมายรับรอง "Q" ที่แสดงถึงความมีคุณภาพและปลอดภัย ดังนั้นจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมกำกับดูแลการนำเครื่องหมายรับรอง "Q" ไปใช้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังมีระบบการจัดรหัสประกอบการแสดงเครื่องหมาย เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้กรณีที่มีการปลอมแปลงเอกสารใบรับรองหรือ กรณีตรวจพบสินค้ามีปัญหาด้านคุณภาพที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี วันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. .... เพื่อเสนอต่อรัฐสภา และได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งได้พิจารณาอนุมัติให้มีพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. .... เสนอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชลงพระปรมาภิไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 125 ตอนที่ 37 ก วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมีเหตุผลในการประกาศ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเร่งรัดพัฒนาสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน และโดยที่ในปัจจุบันสินค้าเกษตรหลายชนิดทั้งที่ผลิตขึ้นในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศยังไม่มีมาตรฐานใช้บังคับเป็นเหตุให้สินค้าเกษตรด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ประชาชนขาดความเชื่อถือ และส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการสินค้าเกษตรของไทย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม สมควรมีกลไกในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ได้มาตรฐานเพื่อ ความปลอดภัย หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดแก่ประชาชน หรือแก่กิจการสินค้าเกษตร หรือเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเป็นที่มาของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดในบทเฉพาะกาลมาตรา 80 ให้ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเกษตรอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ผู้นั้นใช้เครื่องหมายรับรองนั้นกับสินค้าเกษตรได้ต่อไปโดยให้ถือว่าเครื่องหมายรับรองนั้นเป็นครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไปตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้กับผู้นั้น หมายความว่า เครื่องหมายรับรอง "Q" ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับสามารถใช้ได้ต่อไปและกฎหมายได้กำหนดให้ออกกฏกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะ การใช้ และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตร พ.ศ. 2563 ซึ่งมี 2 แบบ คือเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ และเครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไป ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าว ประกาศ ณ วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 62 ก หน้า 1 และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจาเป็นต้นไป