อำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวง

อำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวง

             

  มีภารกิจเป็นหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยกำหนด ตรวจสอบรับรอง ควบคุม และส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนการเจรจาแก้ไขปัญหาทางการค้าเชิงเทคนิค เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งเพื่อให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้  
                1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 
                2. เสนอแนะนโยบาย แนวทาง และมาตรการในการกำหนด การตรวจสอบรับรอง การควบคุม การวิจัย การพัฒนา การประเมินความเสี่ยง การถ่ายทอด การส่งเสริม และการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ
                3. กำหนดยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งกำกับดูแล เฝ้าระวัง และเตือนภัย
                4. ประสานงาน กำหนดท่าที และร่วมเจรจาแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค ด้านมาตรการที่มิใช่ภาษี และด้านการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอาหาร
                5. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งการดำเนินการภายใต้ความตกลงว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอาหาร ภายใต้ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 
                6. เป็นหน่วยรับรองระบบงานของหน่วยตรวจสอบรับรองและเป็นหน่วยรับรองผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ 
                7. เป็นศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร 
                8. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

บทบาทภารกิจตามมติ ครม.

บทบาทภารกิจตามมติ ครม. (26 กุมภาพันธ์ – 26 สิงหาคม 2546) ของ มกอช.

สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ด้านเศรษฐกิจ) 
               สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักเกี่ยวกับราชการของ คณะรัฐมนตรี ได้จัดทำเอกสารประมวลข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดนโยบายและการบริหาร ราชการที่มีลักษณะของการเพิ่ม ประสิทธิภาพการบริหารราชการ และการประชุมคณะรัฐมนตรีของ รัฐบาล โดยแสดงให้เห็นถึงการทำงาน และแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งข้อมูลมติคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผล การตัดสินใจในเชิงนโยบายของคณะรัฐมนตรีทุกรอบ 6 เดือน เอกสารเล่มนี้เป็นเอกสารที่ได้ประมวลข้อมูลเรื่องดังกล่าวในช่วง 6 เดือนแรกของ ปีที่สาม ที่คณะรัฐมนตรีได้บริหารราชการแผ่นดิน (26 กุมภาพันธ์ – 26 สิงหาคม 2546) ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ ในการศึกษา ค้นคว้าและอ้างอิงสำหรับผู้ที่สนใจ 

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในตลาดโลก
              
คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 มีนาคม 2546) รับทราบและเห็นชอบผลการหารือเรื่อง กรอบแนวทางปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร (Food Safety) โดยคณะรัฐมนตรีเห็นว่ากระบวนการตรวจสอบควรดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย รวมทั้งกำหนดอัตราค่าตอบแทนหรือรางวัลนำจับให้แก่เจ้าหน้าที่ ที่ทำการตรวจจับการจำหน่ายยา เภสัชเคมีภัณฑ์ ปัจจัยการผลิตและเคมีภัณฑ์การเกษตร ส่วนการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติถือเป็นหลักการที่จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย แก่ผู้กระทำผิด โดยแยกการกระทำความผิดในแต่ละครั้งเป็นรายสำนวนทุกครั้งอย่างเคร่งครัด

คณะรัฐมนตรีมีมติ (18 มีนาคม 2546) รับทราบและเห็นชอบแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำยาสัตว์และเภสัชเคมีภัณฑ์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางที่ชัดเจนสามารถนำไปปฏิบัติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำยาสัตว์และเภสัชเคมีภัณฑ์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์ และมีประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งอนุมัติ ในหลักการแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ในสุกร ในระดับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์

คณะรัฐมนตรีมีมติ (1 เมษายน 2546)
              
เห็นชอบให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) รับเรื่องการจัดตั้งห้องทดสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า (test lab.) เพื่อการส่งออก เพื่อให้สินค้าส่งออกประเภทต่างๆ ของไทย มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมทั้งสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ได้ โดยไม่ถูกกีดกัน โดยมาตรการที่มิใช่ภาษี (non-tariff barriers-NTB) ไปพิจารณาร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานอื่น ที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ ทั้งในส่วนการดำเนินการของภาครัฐ รูปแบบที่จะดำเนินการ ตลอดจนการสนับสนุน การดำเนินงานของภาคเอกชนให้สอดคล้องกัน

คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 เมษายน 2546)
             เห็นชอบในหลักการโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน : สินค้ายุทธศาสตร์หลักทางการเกษตร 3 รายการ ได้แก่ กุ้ง ข้าว มันสำปะหลังและแป้ง (สำหรับเรื่องอ้อยให้ชะลอการดำเนินการไว้ก่อน) และการสร้างความเข้มแข็งของประเทศทางด้านเทคโนโลยีจีโนม 

คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 มิถุนายน 2546) 
              เห็นชอบการจัดระบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยให้สำรวจตรวจสอบสภาพข้อเท็จจริงของการใช้พื้นที่ชายทะเลฝั่งตะวันออกตั้งแต่เขตจังหวัดชลบุรีลงไปถึงเขตจังหวัดเพชรบุรี และพิจารณาจัดระบบการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน

คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 มิถุนายน 2546)
              
อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดโรคระบาด โรคหรือลักษณะของสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่เหมาะสมจะใช้เนื้อสัตว์เช่นนั้นเป็นอาหาร พ.ศ. .... (กำหนดลักษณะของสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ตรวจพบว่า มีสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ตกค้าง ให้ถือว่าไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์นั้นเป็นอาหาร) รวมทั้งอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 6 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 (ยกเลิกความในข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 โดยกำหนดใหม่ให้ผู้รับอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารเพื่อจำหน่ายต้องปฏิบัติ) รวมทั้งเห็นชอบการกำหนดให้ปี พ.ศ. 2547 เป็นปีแห่งสุขภาพอนามัย ซึ่งจะรณรงค์และเผยแพร่คุณภาพและมาตรฐานอาหารของไทยให้เป็นที่แพร่หลายและกว้างขวางออกไปทั้งในและต่างประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหาร (food safety) แล้ว กับเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร จำกัด สำหรับงบประมาณเพื่อการนี้ จำนวน 1,950 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายโดยส่วนที่ 1 ทุนจดทะเบียนสำหรับการจัดตั้งบริษัทฯ จำนวน 250 ล้านบาท ให้เบิกเป็นเงินจ่ายขาดจากงบปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 ส่วนที่ 2 เงินลงทุนและงบดำเนินการของบริษัทฯ จำนวน 1,700 ล้านบาท ให้เบิกเป็นเงินยืม

คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 กรกฎาคม 2546) รับทราบรายงานการแก้ไขปัญหาการยกเลิกมาตรการตรวจสอบกุ้งไก่ในประชาคมยุโรป จากกรณีที่มีการตรวจสอบสินค้ากุ้งซึ่งส่งออกโดยบริษัท I.C.C. COSMOS (1014) มีใบรับรองการตรวจสอบเลขที่ RWIL/2002203/515 ลงวันที่3 มีนาคม 2546 มีสาร Nitro furan ตกค้างในระดับสูง รวมทั้งพบว่าใบรับรองการตรวจสอบสารตกค้างที่บริษัทใช้เป็นเอกสารปลอม จึงได้แจ้งให้ทางประชาคมฯ ทราบถึงการสั่งการยกเลิกบริษัทดังกล่าวออกจากบัญชีรายชื่อผู้ส่งออกสินค้าไปยังประชาคมฯ และ ได้ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อสอบสวนและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาในการควบคุมกำกับดูแลปัญหาการตรวจสอบออกใบรับรอง และดำเนินการกับผู้กระทำผิด

คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 กรกฎาคม 2546)  
              อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่2 ที่เห็นชอบการเปิดตลาดหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปสำหรับปี พ.ศ. 2546 โดยปริมาณนำเข้าในโควตา จำนวน 25,400 ตัน อัตราภาษีนำเข้าในโควตาร้อยละ 27 โดยจัดสรรให้บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 15,000 ตัน บริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ฟูดส์ จำกัด จำนวน 7,600 ตัน และบริษัทยูนิแชมป์ จำกัด จำนวน 2,800 ตัน นำเข้าเพื่อแปรรูปเดือนกรกฎาคม- ธันวาคม 2546 และให้สิทธิพิเศษ Asean Integration System of Preferences (AISP) แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา อัตราภาษีในโควตาร้อยละศูนย์ รวมทั้งเห็นชอบ ในหลักการแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อให้อาหารที่ผลิตและบริโภคในประเทศ มีความปลอดภัยได้มาตรฐานทัดเทียมกับสากล

คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 กรกฎาคม 2546)
              
รับทราบแผน การดำเนินการในการจัดระเบียบซื้อขายกุ้ง การเชื่อมโยงตลาดและการแก้ไขปัญหา และการจัดระบบเผยแพร่ข้อมูลแก่เกษตรกร และเห็นชอบการตรวจสอบคุณภาพและสารตกค้าง การตรวจสอบเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าอย่างเข้มงวด ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องด้วย กับเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงการคลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตาม ควบคุม และจัดระบบการแก้ไขปัญหากุ้งโดยรวม